เชื้อเพลิงทดแทน 6.9 หมื่นล้านลิตรสามารถส่งพลังให้กับอนาคตของการขนส่งทางอากาศเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้หรือไม่
การเปลี่ยนจากรูปแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ green transition ซึ่งจะเป็นการตัดคาร์บอนและมลพิษที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ออกจากห่วงโซ่อุปทานโดยเร็ว คือความท้าทายเร่งด่วนที่น่าหวาดกลัวสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการโลจิสติกส์ทั้งหมด ลักษณะของการบินและการใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมากทำให้การขนส่งทางอากาศกลายเป็นภาคส่วนที่นำคาร์บอนออกจากกระบวนการได้ยากเป็นพิเศษ
แม้ว่าการดำเนินการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพจะมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะกับขาเข้าและขาออกจากสนามบิน แต่การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นไปเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) คือวิธีที่อุตสาหกรรมจะทำคะแนนบนสเกลการตัดคาร์บอนได้เป็นจำนวนมาก
สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) เชื่อว่า SAF จะทำให้การดำเนินการเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของการบินมีความคืบหน้าถึง 65% ภายในปี 2050 จริง ๆ แล้ว IATA หวังว่า การผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจะมีปริมาณอย่างน้อย 6.9 หมื่นล้านลิตรโดยประมาณภายในปี 2028 SAF จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในผลผลิตของการเติบโตนี้ ซึ่งอาจทำให้เชื้อเพลิงประเภทนี้มีราคาถูกลงในปีต่อ ๆ ไปที่กำลังจะมาถึง ตามที่ระบุไว้ในรายงานสถานการณ์การขนส่งทางอากาศ หรือ Airfreight State of the Industry ของ DHL ประจำเดือนมิถุนายน
การขาดความเห็นพ้องสำหรับการผลิต SAF
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต SAF ต้องเผชิญกับความยากลำบากด้านเทคนิคในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย การเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาเนื่องจากโรงกลั่นที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงจะไม่เปิดเผยวิธีการผลิตและแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน ซึ่งหมายถึงผู้ผลิตแต่ละรายต้องหาวิธีการผลิต SAF ที่มีประสิทธิภาพออกมาให้ได้ด้วยตนเอง
ในขณะเดียวกัน ระเบียบข้อบังคับและความไม่แน่นอนของตลาดก็ทำให้ผู้ผลิตเกิดความลังเลใจที่จะลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์นี้ ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิลที่มีจำกัดแทน เช่น ไขมัน ยางรถยนต์ น้ำมัน สารหล่อลื่น และวัตถุดิบตั้งต้นเหลือใช้จากการเกษตร กลยุทธ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีที่จะทำให้ภาคการบินเดินหน้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนเท่านั้น
“ความต้องการวิธีแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งโดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความยั่งยืนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เรามีลูกค้าที่ลงทุนในด้านนี้มากขึ้นถึงสี่เท่าและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” คุณแคธริน โบรสต์ ผู้อำนวยการส่วนกลางโครงการ GoGreen ของ DHL Global Forwarding กล่าว
DHL Global Forwarding กำลังดำเนินการในส่วนของบริษัทเองเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายนี้ด้วยการลงนามเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ IAG Cargo เพื่อจัดซื้อ SAF จำนวน 11.5 ล้านลิตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนว่าด้วยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ของ DHL Group ลูกค้าที่เลือกใช้บริการ GoGreen Plus ของบริษัทโลจิสติกส์จะส่งสินค้าของตนด้วยเครื่องบินที่ใช้เชื้อเพลิง SAF ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งประเภทที่ 3 (Scope 3) ตามเป้าหมายในการปกป้องสภาพอากาศ
เรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นทุนและมุมมองต่อการขนส่งทางอากาศที่ลดลง
แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การใช้จ่ายเพื่อเรื่องนี้ยิ่งยากขึ้นเมื่อตลาดมีการชะลอตัว ในปี 2023 ปริมาณการขนส่งทางอากาศและราคาได้ลดลง รายงานสถานการณ์การขนส่งทางอากาศประจำเดือนมิถุนายนของ DHL ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สินค้าคงคลังที่มีปริมาณสูงและกำลังซื้อที่ต่ำกำลังเป็นตัวขัดขวางอุปสงค์
“อัตราค่าระวางขนส่งทางอากาศปี 2023 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง และในเดือนพฤษภาคมก็ไม่ต่างกัน จึงกลายเป็นการแบกรับปัญหาซ้ำซ้อนของอุปสงค์ที่อ่อนตัวและอุปทานที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเครื่องบินโดยสารทั้งเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและการบินกลับข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงฤดูร้อน” คุณบรูซ ชาน ผู้อำนวยการและนักวิเคราะห์วิจัยอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่แทนในฝ่ายงานโลจิสติกส์สากลและยานยนต์แห่งอนาคตของ Stifel ตั้งข้อสังเกต
การส่งออกจากจีนในปีนี้ยังคงซบเซาเช่นกัน การเติบโตของเป้าหมายหลักเกือบทั้งหมดมีตัวเลขติดลบเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมของปีก่อน ซึ่งในส่วนนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ด้านการเงินก็ไม่ได้คาดหวังมากนักว่าจะมีการฟื้นตัวในระยะสั้น
รายงานระบุว่า “เมื่อมองไปข้างหน้า การส่งออกน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง การผลิตทั่วโลกจะชะลอตัว และมาตรการลงโทษทางการค้าจากฝั่งตะวันตกจะหนักขึ้น” “อุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงยังคงเป็นตัวจำกัดปริมาณการนำเข้า และจีนเองก็กำลังพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าด้านอาหาร พลังงาน และเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วนเช่นกันเนื่องจากเกิดความวิตกกังวลต่อความมั่นคงของประเทศ”
มุมมองโดยรวมต่อการขนส่งทางอากาศเห็นได้ชัดว่าเป็นไปในทางที่เลวร้ายลง แต่ยังคงมีหลายเหตุผลให้เชื่อถือได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เป็นต้นว่า การเติบโตอย่างโดดเด่นในแอฟริกาที่ทอดมาถึงเส้นทางการค้าของเอเชีย อินเดียเองก็มีสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีการค้าเพิ่มขึ้นและผู้ส่งออกของอินเดียยังคาดหวังในแง่ดีต่ออุปสงค์ระยะยาวด้วยเช่นกัน
ในช่วงเริ่มต้น สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเชิงบวกที่แสดงถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์และการกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเชีย ตลาดที่เต็มไปด้วยความหวังในสถานที่หนึ่งย่อมก่อให้เกิดการเจรจาเพื่อจัดสรรทรัพยากรที่จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงทางอากาศเป็นไปอย่างยั่งยืนทั้งในเอเชียและทั่วโลก
คุ้มค่าที่จะอ่านเช่นกัน