ศูนย์ข้อมูลแบบเอดจ์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนี่ก็คือเหตุผล
ในทุก ๆ วัน มีผู้ใช้งานหน้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตประมาณวันละ 125,000 ราย ทำให้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วที่สุดในโลก
แต่ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้ที่มีจำนวนประมาณ 460 ล้านรายในปี 2022 กลุ่มนี้ไม่ได้แค่ท่องเว็บเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเล่นเกม ดำเนินการซื้อ-ขายออนไลน์ในปริมาณมหาศาล และทำธุรกิจระหว่างเดินทาง ด้วยเหตุนี้ สภาเศรษฐกิจโลกจึงประเมินว่า ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า โดยเพิ่มจาก 9.2 GB ต่อคนในปี 2020 เป็น 28.9 GB ต่อคนในปี 2025
และไม่เพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตั้งแต่ภาคธุรกิจจนถึงภาครัฐทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เรากำลังเข้าสู่ยุคเรเนอซองส์หรือยุคเฟื่องฟูของโลกดิจิทัลที่บริษัทมากมายต่างโอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล AI และการประยุกต์ใช้ “ข้อมูลมหัต” หรือ “Big Data”
พร้อมกันนี้ อุปสงค์ของข้อมูลก็ได้ผลักดันให้เกิดกระแสการลงทุนในด้านข้อมูลขึ้น บริษัท Kearney ประมาณการณ์ว่า ขีดความสามารถของศูนย์ข้อมูลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้นด้วยอัตราการเติบโตรายปีแบบผสม 19.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีระหว่างปี 2021 ถึง 2026
และแม้ว่าศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่จะสามารถตอบสนองความจำเป็นด้านข้อมูลในปัจจุบันนี้ได้เป็นส่วนมาก แต่เทคโนโลยีของอนาคตจะต้องการระบบคลาวด์ในรูปแบบที่คล่องตัวมากยิ่งขึ้น หรือที่รู้จักในชื่อ ระบบเอดจ์
เติบโตขึ้นด้วยการลดขนาดลง
ศูนย์ข้อมูลแบบเอดจ์นั้นมีรากฐานจากแนวคิดเครือข่าย IT แบบกระจาย ซึ่งข้อมูลจะได้รับการประมวลผลให้ใกล้แหล่งกำเนิดมากที่สุด ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จะสร้างขึ้นใกล้ผู้ใช้ปลายทางหรือที่ “ขอบ” ของเครือข่าย รวมทั้งส่งมอบคอนเทนต์ที่ได้จัดเก็บแคชเอาไว้และความสามารถในการประมวลผลข้อมูลให้กับผู้ใช้
เมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์ข้อมูลแบบไฮเปอร์สเกล ศูนย์ข้อมูลเอดจ์จะมีขนาดที่เล็กกว่ามาก โดยมีขีดความสามารถอยู่ระหว่าง 500 กิโลวัตต์ถึง 2 เมกะวัตต์ ประโยชน์หลักของศูนย์ข้อมูลเอดจ์คือ การลดเวลาแฝงหรือระยะเวลาที่ผู้ใช้ปลายทางต้องรอก่อนที่ข้อมูลจะได้รับการประมวลผล ศูนย์ข้อมูลเอดจ์นั้นช่วยให้เครือข่ายสามารถส่งมอบผลลัพธ์ได้รวดเร็วขึ้นและตอบสนองได้ดียิ่งขึ้น
ความต้องการสำหรับความเร็วหรือเวลาแฝงของการตอบสนองที่ต่ำนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อเราเข้าสู่ช่วงยุคสมัยที่เน้นการใช้งานข้อมูล ซึ่งเราจะได้เห็นการใช้งานเเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality หรือ AR) การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery) และรถยนต์ไร้คนขับ (Self-driving Car) เติบโตมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไร้คนขับนั้นขับเคลื่อนด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาล โดยประมาณการณ์ว่ารถยนต์ขับขี่อัตโนมัตินั้นสามารถสร้างข้อมูลได้มากถึง 5 TB ต่อชั่วโมง
รถยนต์ไร้คนขับต้องอาศัยเครือข่ายที่มีเวลาแฝงต่ำที่สามารถประกอบรวม วิเคราะห์ และส่งต่อข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางในยานพาหนะลักษณะดังกล่าว การตัดสินใจต่าง ๆ เช่น เวลาที่จะชะลอความเร็ว ตำแหน่งที่จะเลี้ยว ความเร็วที่จะเร่งเครื่องนั้นอาจดูเป็นเรื่องเรียบง่าย แต่ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องการพลังการคำนวณมหาศาลสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในการคำนวณ
เช่นเดียวกัน การผ่าตัดทางไกลหรือความสามารถที่จะผ่าตัดจากต่างสถานที่กันนั้นต้องการการสื่อสารข้อมูลแบบฉับพลันจากศัลยแพทย์ถึงแขนกล ซึ่งเป็นสิ่งที่ศูนย์ข้อมูลแบบเอดจ์สามารถรองรับได้
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนพรมแดนความเร็วสูง
ทวีปอเมริกาเหนือและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นกำลังขับเคลื่อนอุปสงค์ความต้องการศูนย์ข้อมูลแบบเอดจ์ โดยยอดการใช้จ่ายกับศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กเหล่านี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 22.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2031 โดยมียอดเพิ่มขึ้นเกินกว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.21 หมื่นล้านยูโร) ภายในสิ้นปี 2031
แม้ว่าศูนย์ข้อมูลเอดจ์นั้นจะยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความต้องการก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการหนึ่งคือ ภูมิภาคนี้พร้อมแล้วที่จะเริ่มใช้เครือข่าย 5G โดยรายงาน Ericsson Mobility Report คาดว่า 5G จะเป็นเครือข่ายมือถือที่ครอบคลุมและมีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาคนี้ภายในปี 2028 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การผลักดันปริมาณการใช้งานข้อมูลต่อเดือนของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องให้เพิ่มขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปีหรือประมาณ 54 GB ในปี 2028
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลเอดจ์จะเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะสนับสนุนแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งหลายประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม และมาเลเซียได้ประกาศออกมา
ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะนั้นอยู่ระหว่างการนำร่องในเวียดนาม โดยมีนครโฮจิมินห์ ฮานอย ดานัง และเกิ่นเทอ ทั้งในตัวเมืองและบริการภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อีกหนึ่งเหตุผลนั้นก็คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย ศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กนั้นต้องการเงินทุนที่น้อยกว่าและเปิดโอกาสให้บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรรายย่อยสามารถเร่งเพิ่มกำลังอุปทานขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองกำลังของอุปสงค์ที่พุ่งสูงขึ้น นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานอย่างรวดเร็วในด้านต่าง ๆ เช่น ในภาคการเกษตร ซึ่งยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตัวอย่างเช่นในออสเตรเลีย บริษัทศูนย์ข้อมูล Connected Farms กำลังสร้างศูนย์ข้อมูลเอดจ์เพื่อให้บริการในรัฐควีนส์แลนด์เพื่อมอบการจัดการข้อมูลที่ดียิ่งขึ้นสำหรับเกษตรกร ค่าใช้จ่าย: 541,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (368,231.52 ยูโร)
ในทางกลับกัน ศูนย์ข้อมูลระดับไฮเปอร์สเกลนั้นต้องการเงินทุนปริมาณมหาศาล ซึ่งศูนย์ข้อมูลไฮเปอร์สเกลขนาด 150 เมกะวัตต์ของ Meta ในสิงคโปร์นั้นใช้เงินทุนในการก่อสร้างสูงถึงเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สร้างความได้เปรียบให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเร็วในการลงทุนกับการประมวลผลแบบเอดจ์นี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลกำลังหมายตาโอกาสในมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ทาง PT Ekagrata Data Gemilang ได้เปิดศูนย์ข้อมูลเอดจ์ขึ้นในจาการ์ตาเพื่อสนับสนุนการใช้งาน 5G
เช่นเดียวกับ Edge Center ก็ได้สร้างศูนย์ข้อมูลเอดจ์ขึ้นในกัวลาลัมเปอร์ และกำลังพัฒนาอีกสองศูนย์ที่ยะโฮร์ และปีนัง บริษัทสัญชาติออสเตรเลียแห่งนี้ยังได้พัฒนาศูนย์ข้อมูลเอดจ์ในนครโฮจิมินห์และกำลังสร้างอีกหนึ่งศูนย์ขึ้นที่ฮานอยตามโครงการปฏิรูปดิจิทัลแห่งชาติของเวียดนาม ศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กมีเป้าหมายที่จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากตลาดในส่วนที่ยังขาดการดูแล
แต่นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนเหล่านี้ยังแปรไปเป็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคอีกด้วย บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนอย่าง Alibaba มีเป้าหมายที่จะลงทุนพัฒนาศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเป็นมูลค่ารวมถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาสามปี นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะอบรมทักษะดิจิทัลให้กับคนอีก 1 ล้านคนเพื่อการสนับสนุนสตาร์ทอัพ 100,000 ราย
ขณะที่คู่แข่งอย่าง Huawei นั้นก็มีแผนการใหญ่ที่จะฝึกอบรมวิศวกรและบุคลากรอาชีพด้านเทคโนโลยี 100,000 คน พร้อมกับสนับสนุนสตาร์ทอัพถึง 500 รายเฉพาะในอินโดนีเซียเพียงอย่างเดียว
เมื่อเอดจ์เริ่มขยับจากขอบมาสู่ใจกลางกระแสความเป็นไปมากขึ้น เราก็คาดหวังได้ว่าศูนย์ข้อมูลเอดจ์จะเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อพูดถึงความพยายามที่มีเวลาแฝงน้อยแล้ว ขนาดที่เล็กกว่านั้นคือความงดงาม
คุ้มค่าที่จะอ่านเช่นกัน