ห่วงโซ่อุปทานการจัดหาวัสดุทดแทน ในการวิจัยทางคลินิกที่ฟื้นตัวได้เร็ว กำลังขับเคลื่อนการเติบโตด้านเภสัชกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 นั้นนอกจากจะตัดตอนการติดเชื้อระลอกใหม่แล้วยังพลิกห่วงโซ่อุปทานการวิจัยทางคลินิกทั่วโลกไปจากเดิมอีกด้วย ทั้งจากการปิดพรมแดน การขนส่งทางอากาศที่ลดลง และข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายที่เข้มงวดกวดขัน
เพียงปี 2020 ปีเดียว การวิจัยทางคลินิกกว่า 1,200 รายการต้องชะงักไปจากความล่าช้าด้านโลจิสติกส์และการลงทะเบียนทดสอบที่เกิดจากภาวะการระบาด ไม่มีภูมิภาคใดที่ได้รับผลกระทบนี้ร้ายแรงไปกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APAC ซึ่งเป็นที่หมายในการวิจัยทางคลินิกยอดนิยมของโลก
กระนั้น ตามความเห็นของคุณวิลเลียม โลว์ กรรมการอาวุโสของ Life Sciences and Healthcare ของ DHL Supply Chain Asia Pacific แล้วการชะงักงันนี้ยังได้เร่งความเร็วของนวัตกรรมขึ้นด้วย
อุตสาหกรรมการวิจัยทางคลินิกซึ่งมีมูลค่า 4.297 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.615 หมื่นล้านยูโร) ในปี 2020 จำเป็นต้องปรับตัวตามภาวะการระบาด ในการวิจัยทางคลินิกปกติ ผลิตภัณฑ์ยาจะถูกขนส่งตรงจากผู้ผลิตไปยังประเทศที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้รับคัดเลือกมาจะดำเนินการทดสอบ
ทว่า ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างภาวะการระบาดได้คุกคามที่จะขัดขวางแนวปฏิบัตินี้ ทุกวันนี้ ผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมกำลังดำเนินการทบทวนหลังภาวะการระบาดเพื่อประเมินกรอบการทำงานห่วงโซ่อุปทานใหม่และบ่งชี้ความจำเป็นที่สำคัญ
แทนที่จะดำเนินการศึกษาทดลองและจัดเก็บยาทดลองทางคลินิกในประเทศต้นกำเนิด พวกเขากำลังย้ายความสนใจไปที่การพัฒนาศูนย์กลางประจำภูมิภาคเพื่อลดระยะทางและเวลาในการขนส่ง ในกรณีที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น วิธีการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและหลีกเลี่ยงความล่าช้าได้
“ลูกค้าของเราต้องการความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานของตน ลูกค้าต้องการความสามารถที่จะเพิ่มหรือลดระดับได้ตามความเหมาะสมเพื่อความมั่นใจว่าการวิจัยจะดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร” คุณโลว์ กล่าว
จากการตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ในห่วงโซ่อุปทาน ทางอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้นำระบบการทำงานอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น DHL Supply Chain ได้นำโซลูชัน Clinical Trial Control Tower ระดับโลกของ DHL เอง มาช่วยลูกค้าดำเนินการหน้าที่โลจิสติกส์ที่สำคัญได้ตลอดทุกเวลาพร้อมการมองเห็นและติดตามห่วงโซ่อุปทานได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางแบบเรียลไทม์
คุณโลว์กล่าวว่า การมีแพลตฟอร์มห่วงโซ่อุปทานที่เป็นดิจิทัลอย่างราบรื่นช่วยปรับปรุงความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ลดค่าใช้จ่าย และลดคาร์บอนลง
เหตุใดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นที่หมายการวิจัยทางคลินิกยอดนิยม
เหตุใดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นที่หมายการวิจัยทางคลินิกยอดนิยม
ภูมิภาคนี้มีส่วนรองรับการวิจัยทางคลินิกทั่วโลกกว่า 45.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ซึ่งสูงขึ้น 6.4 เปอร์เซ็นต์จากยอดเฉลี่ย 38.9 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลักดันให้มีการใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของโลก ภูมิภาคนี้จึงช่วยให้ผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมสามารถเข้าถึงได้ทั้งกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาวิจัยทางคลินิกและแรงงานฝีมือระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ช่วยด้านเทคนิค
สภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เอื้อประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และโครงสร้างพื้นฐานด้านสินทรัพย์ทางปัญญา (IP) ที่แข็งแรงในประเทศอย่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นยังหมายถึงอุปสรรคด้านกฎหมายที่ต่ำสำหรับผู้ผลิตอีกด้วย
การชะงักงันจากโควิด-19
ภาวะการระบาดของโควิด-19 ได้ขยายความท้าทายของห่วงโซ่อุปทานการวิจัยทางคลินิกในช่วงเวลานั้น เมื่อการนำผลิตภัณฑ์ยาที่ถูกต้องไปส่งถึงผู้ป่วยให้ตรงกับความต้องการและทันเวลาจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ-สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากภาวะการระบาดได้นำไปสู่ความผันผวนสำหรับผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมที่มีส่วนในการดำเนินงานระดับโลก ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความชะงักงันในวงจรธุรกิจและสร้างความเสี่ยงทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
“ตัวอย่างเช่น กฎหมายการนำเข้าที่เข้มงวดขึ้นในประเทศผู้รับอาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งเวชภัณฑ์ที่สำคัญไปยังสถานที่ทดสอบ หากยาพลาดไปจากช่วงอุณหภูมิหรือระยะเวลาการจัดส่งที่กำหนดไว้ ก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ในห่วงโซ่อุปทาน” คุณโลว์ อธิบาย
โซลูชัน Control Tower ของ DHL จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในจุดนี้ ด้วยการมอบการมองเห็นและติดตามโดยสมบูรณ์สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยข้อมูลที่มีการอัปเดตแบบเรียลไทม์ของตัวชี้วัดสำคัญจาก Control Tower ลูกค้าจะสามารถตรวจสอบ วิเคราะห์ และสั่งการต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมพร้อมใจกันผสานความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา จึงมีการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในใบอนุญาตมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมต้องการการวิจัยอย่างกว้างขวางและควบคุมโปรแกรมการปฏิบัติตามข้อบังคับที่ดำเนินอยู่อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลและข้อตกลงของแต่ละประเทศได้เสมอ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่สูงขึ้นอีกด้วย จากการศึกษาการพัฒนายาของ Tufts Center พบว่า ค่าใช้จ่ายในการพัฒนายาเพียงหนึ่งชนิดตั้งแต่ก่อนการวิจัยทางคลินิกจนถึงการอนุมัติวางจำหน่ายนั้นมีมูลค่าโดยประมาณสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.19 พันล้านยูโร)
การเพิ่มสายพันธุ์ของไวรัสได้เร่งจังหวะของช่วงเวลาวิจัยทางคลินิก “โดยทั่วไป การพัฒนายาจะต้องผ่านขั้นตอนทั้งหมดสามขั้นตอนโดยใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 12 ปีก่อนการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แต่กระบวนการนี้ได้ถูกบีบอัดลงมาอยู่ในภายในเวลาปีเดียวเพราะโควิด-19” คุณโลว์ อธิบาย
ด้วยเวลาการวางแผนห่วงโซ่อุปทานและคลังล่วงหน้าที่ลดลง ความต้องการการขนส่งระหว่างประเทศจึงพุ่งทะยานขึ้นพร้อมอัตราค่าขนส่ง ร่วมกันกดดันผู้ผลิตให้ต้องการหาทางจัดการต้นทุน
การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน
ความจำเป็นสำหรับห่วงโซ่อุปทานการวิจัยทางคลินิกที่คล่องตัวและฟื้นตัวได้รวดเร็วยังคงเป็นจุดสนใจสำหรับบริษัทเภสัชกรรมทั่วโลกเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่สภาวะนิวนอร์มอล
เมื่อมีการนำโซลูชัน Control Tower มาใช้ ทาง DHL Supply Chain จะช่วยมอบศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้กิจการสามารถดูแลและจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองได้แบบเรียลไทม์ พร้อมการมองเห็นและติดตามจากต้นทางจนถึงปลายทาง
ตัวอย่างเช่นในปี 2020 โซลูชัน Clinical Trial Control Tower ระดับโลกของ DHL ที่ดำเนินงานใน UK ได้ทำงานควบคู่กับผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมระดับโลกในการช่วยปรับปรุงการมองเห็นและติดตามและปรับปรุงประสิทธิภาพค่าใช้จ่ายการดำเนินงานการวิจัยทางคลินิกในภูมิภาค
การดูแลการศึกษาวิจัยทางคลินิกเกือบ 149 รายการใน 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหมายความว่า ผู้ผลิตต้องทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์และบริการขนส่งจำนวนหลายราย ตลอดจนต้องคอยติดตามแดชบอร์ดและกระบวนการที่แตกต่างกันอยู่เสมอ เช่นเดียวกัน การทำงานร่วมกับผู้ค้าและซัพพลายเออร์ที่ต่างกันทำให้การติดตามความคืบหน้าของแผนเพื่อลดบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวในห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นเรื่องท้าทายจากการขาดการมองเห็นและติดตามตลอดกระบวนการจากต้นทางถึงปลายทาง
โซลูชัน Control Tower ได้ให้ข้อมูลที่ราบรื่นต่อเนื่องและการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มความโปร่งใสแก่ผู้ผลิตด้านเภสัชกรรม
ลำดับแรก DHL จะใช้การปฏิบัติตามกรอบข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกระจายยาแผนปัจจุบัน (GDP) ซึ่งเป็นข้อกำหนดประกันคุณภาพในอุตสาหกรรมเภสัชกรรม จากนั้น ทีมจะนำกระบวนการ Green Light Export มาใช้เพื่อลดการชะงักงันของการเคลียร์ภาษีศุลกากรที่ปลายทางให้น้อยที่สุด
“ความล่าช้าในการเคลียร์ภาษีเพื่อการนำเข้าที่ปลายทางจากเอกสารที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้การจัดส่งต้องติดค้างเป็นเวลานานได้สูงสุดถึงสามวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยาเมื่อพ้นช่วงเวลาที่เหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ควบคุมอุณหภูมิ” คุณโลว์ กล่าว
ด้วยกระบวนการนี้เอง DHL จะตรวจสอบเอกสารการเคลียร์ภาษีศุลกากรกับประเทศปลายทางล่วงหน้าก่อนการส่งต่อสินค้าเพื่อการวิจัยทางคลินิกให้กับ DHL Express ในขาระหว่างประเทศและลดโอกาสที่จะเกิดความล่าช้าเป็นเวลานาน เพื่อจะลดรอยเท้าคาร์บอนในการขนส่ง ทาง DHL จึงใช้โปรแกรมชิปปิ้งควบคุมอุณหภูมิแบบใช้ซ้ำได้เพื่อตัดการใช้งานกล่องแบบใช้ครั้งเดียวควบคู่กันอีกด้วย
ผลลัพธ์ที่ได้นับตั้งแต่การเริ่มให้บริการโซลูชัน Control Tower ถือว่าช่วยให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมนั้นมีการจัดส่งสูงสุดถึง 50 รายการต่อวันใน 13 ประเทศ และมีการมองเห็นและติดตามที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายห่วงโซ่อุปทานโดยรวมนั้นลดลงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์โดยที่จัดส่งได้ตรงเวลาถึง 99.8 เปอร์เซ็นต์
คุณโลว์อธิบายว่า กรอบการทำงานห่วงโซ่อุปทานการวิจัยทางคลินิกที่พัฒนาขึ้นนี้จะเสริมสร้างชื่อเสียงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการเป็นที่หมายการทดสอบทางคลินิกยอดนิยมของโลก แพลตฟอร์มที่ให้บริการครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวอย่างโซลูชัน Control Tower ของ DHL นั้นสามารถช่วยเหลือผู้ผลิตด้านเภสัชกรรมในการเข้าถึงตลาดห่างไกลที่กำลังพัฒนาได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ตลาดที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดีย ปากีสถาน และเวียดนามนั้นยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยทางคลินิกอยู่อีกมาก การมีห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้นจะช่วยส่งเสริมสถานะในตลาดและขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” คุณโลว์ กล่าว
คุ้มค่าที่จะอ่านเช่นกัน