ศูนย์ข้อมูลเอดจ์คือคำตอบที่จะไขทุกปัญหาของการรองรับระบบคลาวด์ขนาดยักษ์งั้นหรือไม่
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ศูนย์ข้อมูลเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีก้าวหน้ามาเป็นระยะทางไกลมากแล้ว และวันนี้ศูนย์ข้อมูลได้วิวัฒนาการมาอย่างมากจากโครงสร้างมหึมาขนาดหลายสิบไร่ที่ขับเคลื่อนเว็บ 1.0 ในอดีต
ในยุคของอีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ และเครือข่ายมือถือที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ศูนย์ข้อมูลเอดจ์ที่กะทัดรัด ทรงพลัง และคุ้มค่าใช้จ่ายถือเป็นรากฐานหลักที่ช่วยยึดโยงโซลูชั่นบนคลาวด์เอาไว้
จากอัตราการเติบโตด้านดิจิทัลรายปีแบบผสมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดการณ์ไว้ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจนถึงปี 2025 ทำให้คาดการณ์กันว่า การเร่งก่อสร้างและเปิดบริการของศูนย์ข้อมูลเอดจ์จะรวดเร็วกว่าการเติบโตของบริการดิจิทัลถึงสี่เท่า
ทว่า การปรับขนาดเครือข่ายศูนย์ข้อมูลเอดจ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับโครงข่ายห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งที่จะตอบสนองความจำเป็นให้ได้ทั้งด้านภูมิศาสตร์ การก่อสร้าง หรือการบำรุงรักษา
การลัดเลาะความท้าทายทางกฎหมายของการก่อสร้างและให้บริการข้ามพรมแดน
ศูนย์ข้อมูลเอดจ์นั้นดำเนินงานด้วยโมเดลแบบ Hub & Spoke ('ดุมล้อ' และ 'ซี่ล้อ') ที่สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ท้องที่ขนาดเล็กและศูนย์ขนาดใหญ่เพื่อแบ่งภาระงานระหว่างกัน ศูนย์ขนาดย่อยเหล่านี้มักตั้งอยู่ตามขอบของพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ใช้ปลายทาง (อันเป็นที่มาของชื่อ เอดจ์ ซึ่งแปลว่า ขอบ) ซึ่งรูปแบบนี้ช่วยลดระยะทางและเวลาที่ต้องใช้ในการส่งและรับแพ็กเก็ตข้อมูล
ในมุมของผู้ให้บริการเครือข่าย การเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายสำหรับผู้ใช้นั้นถือเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยปริมาณการเชื่อมต่อ 5G ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะสูงกว่า 400 ล้านเครื่องในปี 2025 ศูนย์ข้อมูลเอดจ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งของการเปิดใช้งานเครือข่ายความเร็วสูง
ทว่าความท้าทายที่สำคัญนั้นคือ การก่อสร้างและให้บริการศูนย์ข้อมูลข้ามพรมแดนต่าง ๆ โดยเฉพาะในตลาดกำลังพัฒนาซึ่งมักเต็มไปด้วยข้อกำหนดการกำกับดูแลที่อาจทำให้ทั้งโครงการต้องสะดุดลงได้ ความท้าทายนี้นำไปสู่ความจำเป็นของการมีโซลูชั่นด้านบริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ
“นอกเหนือจากการก้าวเข้าไปในเครือข่ายการขนส่งนานาชาติแล้ว ศูนย์ข้อมูลเอดจ์ยังควรต้องพิจารณาผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่คุ้นเคยกับข้อบังคับด้านศุลกากรเพื่อให้มั่นใจในการจัดส่งและการติดตั้งจากจุดเริ่มต้นถึงปลายทางโดยไม่มีปัญหา” คุณดีปาลี กูลาติ รองประธานด้านเทคโนโลยีของ DHL Supply Chain Asia Pacific กล่าว
การเตรียมเครือข่ายเอดจ์สำหรับการขยายขีดความสามารถอย่างยั่งยืน
ประโยชน์หลักของศูนย์ข้อมูลเอดจ์คือ ความยืดหยุ่นและศักยภาพในการเติบโต โมเดลแบบ Hub & Spoke นี้สามารถขยายตัวออกได้อย่างรวดเร็วตามการเติบโตและความจำเป็นของผู้ใช้ปลายทาง รวมทั้งปรับตัวตามขีดความสามารถในการทำงานทางไกลหรือความแพร่หลายของระบบการทำงานอัตโนมัติต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นได้
การนำศูนย์ข้อมูลเข้าสู่ประเทศนั้นเป็นเพียงขั้นตอนแรก สิ่งที่ต้องพิจารณาถัดไปนั้นคือ ความรวดเร็วในการก่อสร้างและให้บริการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการดูแลให้ศูนย์ข้อมูลทำงานต่อเนื่องได้อย่างราบรื่น การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ราบรื่นตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การดูแลความเรียบร้อยระหว่างพาร์ทเนอร์ด้านโลจิสติกส์รายต่าง ๆ จนถึงการสร้างการมองเห็นและติดตามตลอดทั้งห่วงโซ่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลการขับเคลื่อนให้ดำเนินต่อไป “ยิ่งมีการสร้างและให้บริการศูนย์ข้อมูลเอดจ์เพิ่มมากขึ้นเพื่อพยุงการเติบโตและความต่อเนื่องในการให้บริการ เครือข่ายโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นอย่างดียิ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความรวดเร็วนี้เอาไว้” คุณกูลาติ ชี้
ยิ่งเครือข่ายขยายใหญ่ขึ้น การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลยิ่งจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายโลจิสติกส์ที่พร้อมใช้งานได้ทันทีและสามารถมอบประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานได้สูงกว่า โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนต้นทุนในการปรับขนาดลง
“ในขั้นแรก ห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์และราบรื่นตลอดทั้งกระบวนการและมุ่งเน้นเรื่องการมองเห็นติดตามได้ ตลอดจนการควบคุมเป็นสำคัญนั้นจะสอดรับกันได้ดีกับความต้องการในการขยายขนาดศูนย์ข้อมูลอย่างรวดเร็วของลูกค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น” คุณลูอิส แทน กรรมการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยี DHL Supply Chain Asia Pacific กล่าว “นอกเหนือจากการก่อตั้งแรกเริ่มแล้ว ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลหลายแห่งต้องฟาดฟันกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการในการรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพพลังงาน การใช้ประโยชน์ขีดความสามารถ และการจัดการค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการอะไหล่ซ่อมแซมที่มีประสิทธิภาพถือเป็นเรื่องจำเป็นในการรักษาและดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถขยายการดำเนินงาน รวมทั้งตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้ของเครือข่ายศูนย์ข้อมูลเอดจ์ที่กำลังเติบโตได้”
ดังนั้น เทคโนโลยีการดำเนินงานซึ่งรวมถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทานด้วยนั้นจะถูกผสานรวมเข้ากับ IT เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ความโปร่งใสและประสิทธิภาพที่มากขึ้นพร้อมความปลอดภัย การมองเห็นและติดตาม และการควบคุมตลอดทุกวัน 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ที่ดียิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการหยุดชะงัก
การปรับจูนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ฟื้นตัวได้เร็วไร้ช่วงเวลาหยุดชะงัก
ศูนย์ข้อมูลนั้นเปรียบเสมือนหัวใจของโลกที่เชื่อมโยงกันอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นภาพ ประมาณการณ์กันว่าจนถึงสิ้นปี 2022 จะมีการสร้างและบริโภคข้อมูลรวมทั้งสิ้นถึง 94 เซตตะไบต์ (94 ตามด้วยศูนย์ 21 ตัว) กิจกรรมประจำวันของเรา ตั้งแต่การเล่นโซเชียลมีเดียไปจนถึงการซื้อของใช้ในบ้านแบบออนไลน์และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตล้วนมีส่วนในการส่งข้อมูลเหล่านี้ในระดับที่แตกต่างกันตั้งแต่เมกะไบต์ไปจนถึงกิกะไบต์
เรื่องนี้จึงเน้นย้ำให้เราเห็นชัดเจนว่า ช่วงเวลาที่ศูนย์ข้อมูลเอดจ์อาจเกิดการหยุดชะงักขึ้นได้นั้นจะมีผลสืบเนื่องที่ร้ายแรงและอาจบานปลายเป็นเหตุการณ์ที่มีมูลค่าสูงได้ เฉพาะปี 2022 เพียงปีเดียว ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลถึง 60 เปอร์เซ็นต์รายงานการพบเหตุไฟดับ ซึ่งบางเหตุการณ์มีความเสียหายในระดับสูงกว่าเกณฑ์ล้านดอลลาร์อีกด้วย
ความสามารถในการฟื้นตัวของศูนย์ข้อมูลนั้นกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีบริษัทหลายรายที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการฟื้นตัว เริ่มตั้งแต่ระดับการเตรียมการในไซต์งานไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานที่ใหญ่ขึ้น คาดกันว่า การใช้ระบบซ้ำซ้อนของขีดความสามารถศูนย์ข้อมูลเป็นแผนรองรับจะเพิ่มสูงขึ้นแม้จะมีการพิจารณาเรื่องความสมดุลของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ทว่าความไม่แน่นอนของห่วงโซ่อุปทานศูนย์ข้อมูลระหว่างภูมิภาคจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และความขาดแคลนของอุปกรณ์นั้นคาดว่าจะทำให้การให้บริการและซ่อมบำรุงนั้นมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในการเสริมความแข็งแรงและช่วงเวลาให้บริการของศูนย์ข้อมูลเอดจ์นั้น รากฐานของแพลตฟอร์มการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพสูง รวมทั้งพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลที่คล่องตัวและแข็งแรง ห่วงโซ่อุปทานของศูนย์ข้อมูลจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งและใช้งานข้อมูลเรียลไทม์ที่ไว้วางใจได้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการวางแผนรองรับ และสร้างบทวิเคราะห์คาดการณ์
“ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลตระหนักดีถึงความท้าทายในการดูแลและรักษาสถานะและประสิทธิภาพของศูนย์ข้อมูลเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงมีความชัดเจนแน่วแน่ในการจัดหาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีคุณภาพและใส่ใจอนาคตให้การดำเนินงานของตนเองเพื่อตอบสนองและมั่นใจถึงความสามารถในการฟื้นตัวของศูนย์ข้อมูลของตน” คุณแทน กล่าว
รากฐานหลักสำหรับระบบนิเวศศูนย์ข้อมูลที่รักษ์โลกมากขึ้นอย่างมาก
ศูนย์ข้อมูลเอดจ์เป็นสิ่งที่จะคงอยู่กับเราเป็นเวลาอีกนานจากการเติบโตต่อเนื่องของเครือข่ายความเร็วสูงและบริการบนคลาวด์
แต่ประโยชน์ของศูนย์ข้อมูลเอดจ์นั้นไม่ได้อยู่เพียงในด้านประสิทธิภาพเครือข่ายที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า และการเป็นโอกาสใหม่ ๆ สู่บริการบนคลาวด์เท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะเป็นการดำเนินงานที่ยั่งยืนมากกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ก่อนหน้าด้วย
ศูนย์ขนาดย่อยเหล่านี้ใช้พลังงานน้อยกว่า และในทางหนึ่งจึงต้องการมาตรการการระบายความร้อนที่น้อยกว่าในการทำงาน เมื่อจับคู่กับแหล่งพลังงานหมุนเวียนในท้องที่ ศูนย์ข้อมูลเอดจ์จึงมีแนวโน้มที่จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า
จากการที่ความยั่งยืนกำลังจะกลายเป็นวาระสำคัญของผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรฐานใหม่ ๆ จึงเริ่มเกิดขึ้นเพื่อสร้างแนวปฏิบัติในการติดตามและรายงานเรื่องความยั่งยืนอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทว่าผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลหลายแห่งนั้นก็ยังไม่พร้อมสำหรับข้อกำหนดและการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนที่กำลังจะถาโถมเข้ามา
“คำถามสำคัญไม่ใช่ว่าจะมีการสร้างและให้บริการศูนย์ข้อมูลเอดจ์อีกกี่แห่ง แต่เป็นความรวดเร็วที่บริษัทจะสามารถขยายขีดความสามารถอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองความจำเป็นด้านข้อมูลของลูกค้าที่กำลังเติบโตขึ้นและข้อกำหนดการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น” คุณกูลาติ กล่าว
ในบรรดาโครงการริเริ่มมากมายที่จะนำโซลูชั่นดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเร่งวัตถุประสงค์ด้าน ESG ซึ่งรวมถึงการติดตามสอดส่องด้านพลังงานและสาธารณูปโภคด้วยนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานก็จำเป็นจะต้องเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแผน ESG ด้วย บริษัทจะเน้นความสำคัญของพาร์ทเนอร์ที่มีรอยเท้าคาร์บอนฟรุทปริ้น (Carbon Footprint) ตรงกันและจะช่วยลดระดับรอยเท้าคาร์บอนลงไปจนถึงอยู่แนวหน้าในด้านโครงการริเริ่มรักษ์โลกต่าง ๆ
ด้วยแนวโน้มที่กำลังไต่ระดับขึ้นนี้ ศูนย์ข้อมูลเอดจ์มีความสามารถและจะเฟื่องฟูขึ้นด้วยการก่อสร้าง ตลอดจนให้บริการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการพื้นตัวที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญที่สุด โครงข่ายห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง
สิ่งสำคัญมากคือ การวางแผนรองรับที่มีโรดแมปการขยายตัวเชิงกลยุทธ์ควบคู่ไปกับพาร์ทเนอร์ด้านโลจิสติกส์ที่ไว้วางใจได้นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะต้องเผชิญในอนาคต