การใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์และลมเพื่อกระบวนการโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน
ปี 2023 เป็นปีที่มีการตื่นตัวอย่างมากในเรื่องของพลังงานสะอาด ระบบพลังงานทั่วโลกมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเข้าไปในระบบอีกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่วงปลายปี 2023 มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (Conference of the Parties of the UNFCC (United Nations Framework Convention on Climate Change)) หรือ COP28 อันเป็นการเรียกร้องให้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2030
ปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นตัวผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ตอบรับข้อเรียกร้องนี้ พร้อมทั้งจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของตนขึ้น จากรายงาน International Energy Agency’s (IEA) Renewables 2023 ระบุว่ากำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 507 กิกะวัตต์ (GW) ในปี 2023 โดยเป็นพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ถึงสามในสี่ของปริมาณที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก การเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้มากขึ้นอาจทำให้พลังงานหมุนเวียนมีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า
โครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต่างพูดถึง บริษัทและประเทศต่าง ๆ ได้นำมาตรการมาใช้เพื่อขยับเข้าใกล้เป้าหมายว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของตนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดต้นทุนพลังงานในระยะยาว แต่การนำมาตรการเหล่านั้นมาใช้ก็พ่วงมาด้วยความท้าทาย นั่นคืออุปสรรคสำคัญ ๆ ที่ขัดขวางเส้นทางสู่อนาคตที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยเช่นกัน.
การรวมพลังงานเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับอนาคต
รายจ่ายการลงทุนล่วงหน้าที่สูงมากของโครงการพลังงานหมุนเวียนมักเป็นอุปสรรคที่ทำให้บริษัทหรือประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ได้ การรับประกันแหล่งเงินทุนจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการหาตลาดการเงินที่มีความซับซ้อน การได้รับเงินกู้ที่มีระยะเวลาการชำระหนี้ตามที่ต้องการ และการทำให้แน่ใจว่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่เชื่อถือได้
อกจากนี้ ราคาพลังงานที่มีความผันผวนอย่างมากและความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายยังส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเงินเช่นกัน
ในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ บริษัทต่างพยายามมองหาวิธีการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น Green Bond หรือตราสารหนี้สีเขียว ซึ่งจะให้ทุนแก่โครงการด้านความยั่งยืนที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPA) เพื่อส่งเสริมการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
ตัวอย่างหนึ่งของวิธีการดังกล่าวได้แก่ โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มพลังงานหมุนเวียนระดับองค์กร (Corporate Renewable Energy Aggregation Group หรือ CREAG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบริษัทระดับโลก 5 แห่งเพื่อร่วมกันซื้อพลังงานหมุนเวียนจากโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 1 แห่ง PPA ในลักษณะนี้จะลดความเสี่ยงทางการเงิน ทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดต่อขนาดได้มากขึ้นอีกด้วย
ก่อนที่จะมีข้อตกลงดังกล่าว บริษัทขนาดเล็กต่างประสบกับความยุ่งยากในการทำข้อตกลงกับโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยมากมักต้องรอให้บริษัทขนาดใหญ่ทำการซื้อพลังงานไปเป็นปริมาณมากเสียก่อนจึงจะสามารถซื้อพลังงานในส่วนที่เหลือได้ เมื่อรวมแหล่งทรัพยากรและอุปสงค์เข้าไว้ด้วยกัน CREAG จะช่วยให้บริษัทได้รับระยะเวลาการชำระหนี้ที่ดีขึ้นและลดต้นทุนในการจัดซื้อจัดหาลง
หลาย ๆ ประเทศ เป็นต้นว่า อินเดียและอินโดนีเซียต่างเคยประสบกับความท้าทายทางการเงินแบบเฉพาะอันเนื่องมาจากความผันผวนในมูลค่าสกุลเงินและการแกว่งของอัตราดอกเบี้ยมาแล้วเช่นกัน ซึ่งส่งผลเสียต่อต้นทุนของโครงการและระยะเวลาในการชำระหนี้ สำหรับประเทศอินโดนีเซีย การรับประกันการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากความเสี่ยงทางการเมืองและกฎระเบียบอย่างที่รับรู้กัน
บริษัทให้ยืมหลักทรัพย์ระดับโลกจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายว่าด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนของอินโดนีเซีย โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันทางการเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงการเป็นพันธมิตรด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition Partnership หรือ JETP) อินโดนีเซียตั้งเป้าลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบไฟฟ้าแบบออนกริดของตนไว้ที่ 250 ล้านเมตริกตันจาก 350 ล้านเมตริกตันในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ก็ทำให้ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียมักต้องประสบกับปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ
รัฐบาลอินเดียตอบสนองต่อปัญหานี้ด้วยการใช้สิ่งจูงใจทางการเงินในแบบต่าง ๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการอุดหนุนจากรัฐ สถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารเพื่อการพัฒนาก็ให้ความร่วมมือด้วยการนำเสนอตราสารสิทธิทางการเงินด้วยเช่นกัน โครงการพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดขนาด 400 เมกะวัตต์ของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นการรวมเอาโรงงานผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 3 แห่ง โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 แห่ง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เข้าด้วยกันได้ตั้งเป้าที่จะจ่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โครงการนี้ได้กลายเป็นจริงด้วยวงเงินกู้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐพร้อมระยะเวลาการชำระหนี้ 5 ปี โดยความช่วยเหลือจากธนาคารที่รับบริหารจัดการความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในการรับประกันเงินลงทุนที่จำเป็นและบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น
การยกของหนัก
การขนย้ายส่วนประกอบขนาดใหญ่อย่างแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และส่วนโครงสร้างเสาอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีวิธีการและอุปกรณ์ขนย้ายแบบพิเศษ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดีพอ ข้อจำกัดของถนน และอุปสรรคจากระเบียบข้อบังคับ ก็สร้างความยุ่งยากให้กับความพยายามขนย้ายได้เช่นกัน
ในการเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ บริษัทต้องเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อปรับปรุงยานพาหนะให้เหมาะสม การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และการสนับสนุนให้มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ในประเทศออสเตรเลีย การขนย้ายอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนไปยังไซต์งานในพื้นที่ห่างไกลที่ทุรกันดารในแถบภูมิภาคพิลบาราจะเน้นไปที่ความท้าทายอย่างถนนที่สามารถเข้าถึงได้ และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การใช้วิธีการขนย้ายแบบพิเศษและการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดส่งอุปกรณ์จะเป็นไปอย่างปลอดภัยและทันเวลา
ประเทศและตลาดต่าง ๆ ยังมีข้อกำหนดเฉพาะที่ต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน ภูมิประเทศแบบหมู่เกาะของอินโดนีเซียทำให้ประเทศนี้จำเป็นต้องมีเครือข่ายโลจิสติกส์ทางทะเลที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนข้ามฟากไปยังเกาะที่อยู่ห่างไกล
เมื่อวิธีการแบบออฟกริดและโครงการไฟฟ้าบนเกาะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศชาติและบริษัทต่าง ๆ ภายในประเทศต้องหาทางแก้ไขความซับซ้อนในกระบวนการโลจิสติกส์ เป็นต้นว่า การดำเนินงานของท่าเรือ การเดินพิธีการศุลกากร และตารางเดินเรือ เพื่อกระตุ้นและทำให้การเปลี่ยนผ่านไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วิธีการทางโลจิสติกส์ที่น่าเชื่อถือ เช่น การใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์การวางแผนเส้นทางขั้นสูง และการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการขนย้าย คือสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและลดภาวะชะงักงันให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
การเพิ่มพลังใจ
การดำเนินการและการปรับปรุงระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะสูงซึ่งเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและใช้งานเทคโนโลยีพลังงานขั้นสูง ดังนั้น การจัดการกับปัญหาช่องว่างทางทักษะและการขาดแคลนคนทำงานในส่วนที่อาจขัดขวางประสิทธิภาพในการดำเนินงานจึงมีความสำคัญมาก
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนได้มีการลงทุนครั้งสำคัญในการพัฒนาแรงงาน โดยเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจอันมุ่งมั่นที่มีต่อพลังงานหมุนเวียน การสร้างศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางและแผนการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงของประเทศชาติ การเป็นพันธมิตรกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงานด้านพลังงานหมุนเวียน ยังเอื้อประโยชน์ต่อความพยายามในการวิจัยและการพัฒนา ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และความชำนาญซึ่งสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนอันมุ่งมั่นของประเทศชาติซึ่งกำหนดไว้ที่ 1200 กิกะวัตต์ภายในปี 2030
เช่นเดียวกันกับประเทศอินเดียที่การจัดตั้ง Skill Council for Green Jobs ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงช่องว่างทางทักษะของพนักงานที่อยู่ในส่วนงานพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาชุดการฝึกอบรมและโปรแกรมการรับรองให้ได้มาตรฐาน ทำให้พนักงานได้สั่งสมสมรรถนะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทต่าง ๆ ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของพลังงานหมุนเวียน
SkillsFuture Credit ของประเทศสิงคโปร์เองก็มีการนำเสนอหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้งานพลังงานหมุนเวียนและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขึ้นมาท่ามกลางหัวข้ออื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าชุดทักษะจะมีการอัปเกรดและสัมพันธ์กับการพัฒนาใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ ความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศจะทำให้มั่นใจได้ว่าโปรแกรมการฝึกอบรมเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งจะช่วยให้แรงงานมีความพร้อมรับมือกับอุปสงค์ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นได้
คุ้มค่าที่จะอ่านเช่นกัน